โชคดีที่ผมได้เข้ามาในโลกที่ได้เห็นเรื่องราวจำนวนมากของคนตัวเล็ก ตัวน้อย  ทำให้ผมอินกับเรื่องราวทำนองนี้   ผมอินมาก จนครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ที่มากระตุกผมให้ต้องคิดทบทวนมากขึ้น   ครั้งหนึ่งในงานฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ  มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งตั้งคำถามตอนท้ายในวง AAR ปิดท้าย   ประมาณว่า  “เรามาจัดการความรู้เรื่องราวเล็กๆ (จิ๊บจ๊อย) แค่นี้เองหรือ?”    กลับมานึกดู เออก็จริงตามที่เขาว่า  มันเล็กน้อยจริงๆ  แล้วทำไมเราถึงอินกับมันมากมายเพียงนี้  ก่อนอื่นผมจะพาท่านทัวร์เรื่องราวเล็กๆ ที่ว่านี้ก่อนนะครับ  ค่อยๆ ติดตามไปนะครับ

เรื่องที่ 1   คนสร้างความรู้ ที่กิ่ง อ. แคนดง จ.บุรีรัมย์  

ความรู้ของน้าสำเริงอีกชิ้นหนึ่ง  ที่น่าทึ่ง  คือ   ที่อัดก้อนฟาง

น้าสำเริงเล่าว่า   เวลาที่เดินไปที่นา  ก็มักจะพบฟางข้าวหลังการนวดเสร็จแล้วที่เจ้าของไม่ได้ประโยชน์อะไรทิ้งไว้ในทุ่งนา    ซึ่งเวลาที่น้าสำเริงไปทุ่งนาก็มักเอารถเข็นไปด้วย  เพื่อเก็บฟางเอากลับมาด้วย   ซึ่งหากอัดเป็นก้อนได้ก็สามารถขนย้ายได้มากขึ้นและสะดวกมากขึ้น   จึงเป็นที่มาของความคิดสร้างที่อัดฟาง

Sumruangsumruang2

ที่อัดฟางของน้าสำเริง  หากคนที่ผ่านไปผ่านมาก็คงจะไม่รู้ว่ามันใช้สำหรับอัดฟาง  หน้าตาออกจะคล้ายกรงดักสัตว์มากกว่า    ประดิษฐ์เองแบบง่ายๆ  โดยการตัดไม้ยาวประมาณ 1 เมตรเศษเห็นจะได้ (สูงประมาณระดับสะเอว)  นำเอามาตีตะปูเป็นแผงหน้ากว้างตามขนาดก้อนฟ้างที่เราอยากจะให้เป็น   รวมทั้งหมดจำนวน  4 แผง    จากนั้นนำยางรถจักยาน (ยางนอก) มาตัดยาวประมาณเกือบ 1 ไม้บรรทัด  นำมาตอกตะปูยึดติดกับแผงไม้ทั้ง 4 มุม  เมื่อกางออกเป็นรูปสี่เหลี่ยม (ดูภาพประกอบ) ก็จะมีหน้าตาอย่างที่เห็น

ตอนใช้งานก็วางเชือกที่จะมัดก้อนฟางลงไปก่อน   จากนั้นเอาฟางใส่ลงไปจนเต็มแล้วคนลงไปย่ำให้แน่น  จนได้ขนาดพอดีกับความสูงของไม้แผงที่ทำขึ้น    แล้วค่อยเอาปลายเชือกที่จัดวางไว้ในตอนแรกนั้นมัดให้แน่น    เมื่อแกะเชือกแผงไม้ออก  ก็จะได้ก้อนฟางดังนี้ครับ

ส่วนแผงไม้นั้น  สามารถพับเก็บได้  เคลื่อนย้ายสะดวก    น้าสำเริงเล่าเสริมต่อว่า  อันที่เห็นนี้นะครับเพิ่งทำขึ้นใหม่  เพราะอันเก่าที่ใช้งานอยู่ประจำนั้น  มีคนสนใจเพิ่งขโมยเอาไปเสียแล้ว   เห็นมั๊ยครับ  ถ้าไม่น่าสนใจคงไม่ถูกขโมยแน่ๆเลย

เล่าโดย  ธวัช หมัดเต๊ะ

Source: http://gotoknow.org/blog/learn-together/18072

 

เรื่องที่ 2  ภูมิปัญญาชาวบ้าน : วิธีกระตุ้นปลาตะเพียนให้วางไข่

จากบันทึก ครูติดแผ่นดินข้าว : ร่วมเวทีเรียนรู้ลดต้นทุนการผลิตข้าวที่อำเภอปางศิลาทอง  ซึ่งผมและทีมงานได้ไปร่วมเวทีเรียนรู้การลดต้นทุนการผลิตข้าวที่อำเภอปางศิลาทอง  ซึ่งสถานที่จัดเวที ก็ใช้แปลงไร่นาสวนผสมของคุณลุงวิรัตน์  พรหมศรี  ครูติดแผ่นดินข้าวของอำเภอปางศิลาทองนั่นเอง

หลังจากเราดำเนินการจัดเวทีกันเสร็จแล้ว  คุณลุงวิรัตน์  ได้สาธิตเทคนิควิธีการกระตุ้นปลาตะเพียนให้วางไข่  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้จากการสังเกตและทดลองจนประสบผลสำเร็จ  สามารถกระตุ้นปลาตะเพียน ให้วางไข่ก่อนฤดูได้  โดยในวันนี้คุณลุงวิรัตน์ จึงได้ติดตั้งอุปกรณ์และสาธิตวิธีการให้พวกเราที่ได้ไปร่วมเวทีได้ดู

คุณลุงวิรัตน์  พรหมศรี เจ้าของภูมิปัญญา เล่าว่าปกติปลาตะเพียนจะวางไข่ในช่วงฤดูฝน  แต่จากการสังเกตพบว่าเมื่อมีการสูบน้ำลงสระในช่วงหน้าแล้ง  เมื่อปลาได้น้ำใหม่ และมีเสียงการกระทบกันของน้ำ  ตอนกลางคืนจะเห็นปลาตะเพียนเริ่มจับคู่และมีการวางไข่

เมื่อค้นพบว่าวิธีการนี้แล้วจึงได้พัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การเจาะท่อพีวีซีให้มีการตกและกระจายของน้ำให้มีวงกว้างยิ่งขึ้น  รวมไปถึงการนำสังกะสีมาวางบนผิวน้ำเพื่อให้เกิดเสียงดังคล้ายๆ ฝนตก เป็นต้น   ซึ่งก็พบว่าช่วยเพิ่มการกระตุ้นให้ดียิ่งขึ้น   จึงได้ใช้เทคนิคและวิธีการนี้เรื่อยมา  และจะทำในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ตอนเย็น-กลางคืน ทำให้ขยายพันธุ์ปลาตะเพียนได้เร็วกว่าธรรมชาติมาก และไม่ต้องใช้วิธีการผสมเทียม

     ผมขอนำภาพวิธีการกระตุ้นปลาตะเพียนให้วางไข่ที่คุณลุงวิรัตน์ได้สาธิตมาให้ได้ชมกันครับ


Wirat wirat4
ท่อพีวีซีที่ที่พัฒนาโดยการเจาะรูด้างข้าง 2 แถวตลอดแนวท่อ  ลักษณะการพ่นน้ำลงสระเพื่อกระตุ้นปลาตะเพียนให้วางไข่   บริเวณที่น้ำตกลงสระ สามารถเพิ่มอุปกรณ์โดยนำแผ่นสังกะสีมารองรับให้เกิดเสียงเหมือนฝนตกได้อีก


ร่วมชื่นชมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.ครับ

เล่าโดย   วีรยุทธ  สมป่าสัก  22  กรกฎาคม  2552

Source: http://gotoknow.org/blog/yutkpp/278959

 

เรื่องที่ 3  นวัตกรรม “PODOSCOPE (หมอดูลายเท้า)”

“การที่ผู้ป่วยเบาหวานมองเห็นเท้าตนเองขณะประเมินด้วย Podoscope ทำให้ตระหนักถึงปัญหาที่พบและมีส่วนร่วมในการดูแลเท้าตนเองมากขึ้น ซึ่งเปรียบได้กับ มีการทำนายทั้งการเกิดแผล ตลอดจนการป้องกันการเกิดแผลได้ในอนาคตนั่นเอง (หมอดูลายเท้า)”

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เท้า มีปัญหาที่พบได้บ่อยในคือ การเกิดแผล ซึ่งพบในทุกโรงพยาบาล ตั้งแต่การทำแผลที่ซ้ำซาก มี Re-admission, Re-debridement และการส่งต่อที่ซ้ำซาก ส่งผลให้เกิดผลเสียตามมา กระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้  ทั้งเวลาในการรักษา ค่าใช้จ่ายสูง  บางรายรุนแรงจนต้องสูญเสียอวัยวะ จากการถูกตัดนิ้ว ตัดเท้าหรือตัดขา  ซึ่งปัญหาดังกล่าวมักเกิดจากการผิดรูปของเท้า มีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียระบบประสาทส่วนปลาย(neuropathy) และไม่ได้มีการประเมินความผิดปกติและป้องกันแต่เนิ่นๆ  การดูแลที่สำคัญอยู่ที่ความสามารถในการประเมินความผิดปกติอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างเหมาะสม  ตามมาตรฐานการตรวจเท้าการประเมินแรงกดของฝ่าเท้าต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความซับซ้อน  ราคาแพง และสามารถให้บริการตรวจได้ที่สถาบันทางการแพทย์ที่มีขนาดใหญ่  โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลที่มีความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือ เช่น เครื่อง I-step, Foot scan, Foot pressure graph และ  Podoscope

คลินิกสุขภาพเท้าเบาหวาน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จึงมีแนวคิดที่จะประยุกต์เครื่อง Podoscope เพื่อใช้ในการประเมินการลงน้ำหนักเท้า โดยประยุกต์ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ได้แก่ กระจกใสหนา (ขนาดที่มั่นใจว่ารับน้ำหนักคนได้) กระจกเงา หลอดไฟ และโครงเหล็กนำมาประกอบกันโดยวางกระจกใสไว้ด้านบนในแนวราบ กระจกเงาติดที่ด้านล่างในแนวทะแยงเชื่อมต่อกันด้วยโครงเหล็กสี่เหลี่ยม แล้วให้ผู้ป่วยยืนบนแผ่นกระจกใสเพื่อประเมินการลงน้ำหนักของเท้า แสดงผลด้วยภาพเท้าสะท้อนที่กระจกเงาที่ปรับมุมได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพเท้าของตนเองขณะตรวจ และสื่อสารกับผู้ประเมินได้ตรงกัน

podo1podo3

 

ผลลัพท์ของการใช้ Podoscope กับผู้ป่วยเบาหวานในคลินิกสุขภาพเท้าเบาหวาน จำนวน 119 คน พบความผิดปกติของเท้าจำนวน 104 คน แบ่งเป็น เท้าแบน 85 คน   เท้าโก่ง 8 คน เท้าผิดรูปแบบอื่น  26  คน  นอกจากนี้ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 78 คน  ยังพบแรงกดของฝ่าเท้าที่มากกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแผล การจัดการปัญหาเหล่านี้มีตั้งแต่ปรับรองเท้าที่เหมาะสมจำนวน 57 คน  ออกแบบและตัดรองเท้าเฉพาะรายจำนวน 22 คน  และสามารถป้องกันการเกิดแผลที่เท้าได้จำนวน 64  คน

จากการที่ผู้ป่วยเบาหวานมองเห็นเท้าตนเองขณะประเมินด้วย Podoscope ทำให้ตระหนักถึงปัญหาที่พบและมีส่วนร่วมในการดูแลเท้าตนเองมากขึ้น  ซึ่งเปรียบได้กับ มีการทำนายทั้งการเกิดแผล ตลอดจนการป้องกันการเกิดแผลได้ในอนาคตนั่นเอง (หมอดูลายเท้า)

 

เล่าโดย   พเยาว์ ปิยะไพร นักกายภาพบำบัด      บันทึกโดย คุณอเนก ทนงหาญ เภสัชกร

รพร. สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม

ที่มา : http://gotoknow.org/blog/dmthatpanom/198442

 

เรื่องที่ 4   เยี่ยมบ้าน 3 ประสาน    “บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล”

ตอนเช้าที่แตกต่าง…วันครบอายุ 14 ปีของน้องแอม    น้องแอมตื่นมาในที่ที่ไม่คุ้นเคย พร้อมสายระโยงระยางค์เต็มไปหมด  วันนี้น้องแอมไม่ได้อยู่บ้าน  แต่อยู่ที่ห้อง ICU  ชีวิตที่ไม่คุ้นเคย ท่ามกลางความกลัว  น้องแอมถูกเจาะเลือดครั้งแล้วครั้งเล่า  ตลอด 2 สัปดาห์ที่โรงพยาบาล   และแล้วน้องแอมก็ได้กลับบ้านพร้อมกับ ชีวิตที่เปลี่ยนไป  น้องแอมเป็นเบาหวานชนิดที่ 1  ต้องฉีดยาและเจาะเลือด วันละหลายครั้ง

แล้วเราก็มาพบกัน ครู ครอบครัว และเรา

3partners 3partners2

       ชีวิตที่เปลี่ยนไป ชีวิตน้องแอม ต้องอยู่อย่างมีแบบแผน

       ทั้งมื้ออาหาร

       เวลาตรวจเลือด และฉีดยา

       การทานอาหารให้พอและเหมาะสม

       คนรอบข้างทั้ง แม่ ป้า เพื่อน ครู  ต่างต้องมีหน้าที่ในการดูแล ที่ต้องรู้และเข้าใจ

และเพื่อให้น้องแอม สามารถอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข และปลอดภัย จึงต้องมีการ

น้ำหวานที่คุณครู เตรียมไว้ และการพบกันของเรา

เตรียมการดูแล  ที่ร.พ น้องแอมรับการดูแลอย่างปลอดภัย    แต่สิ่งสำคัญ อยู่ที่บ้าน และโรงเรียน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของน้องอยู่ที่นั้น   หนึ่งสัปดาห์….หลังจากที่น้องแอมออกจากโรงพยาบาล  ทีมของเรา 4 คน นัดพบคุณครู คุณแม่ เพื่อนสนิท ของน้องที่โรงเรียน  ทันที่ทีจอดรถ น้องแอม ยืนรอหน้าตาสดใส  คุณครูฝ่ายปกครอง ครูประจำชั้น คุณแม่ เพื่อนสนิท พร้อมที่นัดหมาย  เมื่อได้พูดคุยกันแล้วเราทกคนก็ต่างสบายใจ

  • คุณครู สกุล เข้าใจการดูแล  เตรียมน้ำหวาน ไว้เตรียมพร้อมในตู้เย็น และเข้าใจอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ  อนุญาติให้น้องแอม พกโทรศัพท์มือถือ   อนุญาติให้เข้าห้องน้ำบ่อยๆ   และไปเน้นย้ำ กับป้าสำรวยแม่ครัว ที่ต้องตักอาหารให้น้อง ตามปริมาณที่เหมาะสมและตักให้ก่อน เพื่อให้น้องแอมทานอาหารตรงเวลา  เตรียมขนมว่างให้ ทั้งมื้อเช้า มื้อบ่าย และคุณครูอนุญาตให้ทานอาหารว่างระหว่างมื้อ ในช่วงเวลาเรียนได้  เข้าใจเรื่องการฉีดยาและการเจาะเลือด  และ เบอร์ 1669 ในกรณีฉุกเฉิน
  • คุณแม่  เมื่อรู้ว่าลูกป่วย ก็เหมือนคนป่วยทางใจอีกคนที่ต้องดูแลทั้งตัวเองและลูกสาว  แม่เรียนรู้การดูแลไปพร้อมๆลูกสาว   แต่ยังดูมีความกังวลในช่วงเวลา4โมงเย็น ถึง 3 ทุ่มที่ลูกต้องอยู่บ้านคนเดียว   แม่ทำงานต่างจังหวัดน้องแอมจึงอยู่กับป้าที่เลิกงานเวลา 3 ทุ่ม  แต่รู้สึกอุ่นใจมากขึ้นที่โรงเรียนที่ครู และทีมจากร.พ โทรศัพท์ ประสานกันอยู่
  • ครูพละ เพราะน้องแอม เป็นนักกรีฑามือหนึ่งของโรงเรียน การป่วยก็เลยทำให้ครู  ถอดใจกลัวความไม่ปลอดภัย ดีที่มี การพูดกันในวันนี้  ชีวิตน้องแอมเลยไม่เปลี่ยน  ยังคงความภาคภูมิใจ ในการเป็นนักกรีฑามือหนึ่งของโรงเรียน  แต่เรื่องนี้ก็ดูไม่ง่าย  เพราะปีหน้า มีการเข้าค่ายเก็บตัวที่จังหวัด เชียงใหม่  เราแอบคิดว่า  ครูพละ ก็กลัวในการรับผิดชอบ  แต่คงมีการติดตามเยี่ยมกันอีกคะ

น้องแอมบอกว่า  “ถ้าหนูเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม หนูก็มั่นใจว่าหนูยังทำอะไรได้เหมือนคนอื่นๆ  ทุกคนจะมองหนูเหมือนเดิม  ถ้าอันนี้ยังทำไม่ได้  หนูกลัวว่าอย่างอื่นหนูก็คงทำไม่ได้ คะ…

สมุดบันทึกที่น้องแอม ทำไว้ ยอดเยี่ยม จริงๆ

เพื่อนๆ  โดยเพื่อนสนิท  ตอนแรกงง ๆ  และเปลี่ยนเป็นสนุกสนาน และอยากเป็นฮีโร่  ที่จะได้ดูแลเพื่อน ในยามฉุกเฉิน  ที่เด็กๆ เรียกว่า  อาการน้ำตาลตก ที่รุนแรง

 

การฉีดยา รายการอาหาร ระดับน้ำตาล ที่ทำให้น้องแอมเกิดการเรียนรู้

และมั่นใจ  ถือเป็นแบบบันทึกผลลัพธ์ของน้องแอมที่ บอกถึงการเปลี่ยนแปลง เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์  นำสู่การเรียนรู้ปรับพฤติกรรม ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้   เกิดบทเรียนในการใช้ชีวิตกับเบาหวาน ที่ไม่มีสูตรตายตัว เหมาะสม มั่นใจ และนำสู่การอยู่กับเบาหวานอย่างมีความสุข ภายใต้การสนับสนุน ดูแลจากทุกฝ่าย อย่างพอเหมาะ พอเพียง

สรุปเราได้ความภาคภูมิใจ ความสุขใจในการทำงานถ้วนๆหน้าและ

      วันนี้ของน้องแอม มี แม่ ครู เพื่อน โรงเรียน  ที่รู้หน้าที่การดูแล และทำได้ดีในระดับหนึ่ง

       เรามั่นใจว่าน้องแอม เมื่ออยู่ที่บ้านและที่โรงเรียนมีความปลอดภัย

 

 

 

การดูแลสุขภาพที่บ้าน(Home Health Care) หมายถึง การดูแลสุขภาพ ที่จัดให้แก่ผู้ป่วย และครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพที่บ้าน ประกอบด้วยกิจกรรมการรักษาโรคเบื้องต้น การพยาบาลที่บ้าน (Home Nursing) การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และความพิการ การฟื้นฟูสภาพ การดูแลภาวะเจ็บป่วยระยะสุดท้าย การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการวางแผนการดูแลสุขภาพตามความต้องการ และสามารถดูแลตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง  โดยมีความบกพร่องหรือภาวะที่เบี่ยงเบนไปจากปกติ  อาจมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างต่อไปนี้

     เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือมีอาการป่วยอย่างถาวร

     ต้องการฝึกฝนเป็นพิเศษเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ

     ต้องการการดูแลเอาใส่ใจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานมีความพิการหลงเหลืออยู่

       พยาธิภาพที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับคืนมาได้เหมือนเดิม

เล่าโดย   รัชดา พิพัฒน์ศาสตร์

ที่มา :  http://gotoknow.org/blog/dmbuddhachin/224292

 

เรื่องที่ 5    อย่าอยู่อย่างยี๊! (เหม็น)

ระหว่างการจัดกิจกรรมหนึ่งในการฝึกอบรมให้แก่พนักงานในโรงงาน  พนักงานเหล่านี้เป็นระดับหัวหน้าแผนก  ต้องดูแลทำงานกับน้องๆ พนักงานปฏิบัติการ   ตอนนั้นเราจัดกิจกรรม “ตามล่าหา Tacit (Knowledge)”  แบ่งกลุ่มย่อยประมาณ 4-5 คนต่อกลุ่ม   ออกไปหน้างานภายในโรงงานไปค้นหา Tacit Knowledge หรือความรู้มือหนึ่งของพนักงานปฏิบัติการภายในโรงงาน   ทุกกลุ่มต้องไปคุยกับเขาเหล่านั้น   เพื่อค้นหาความรู้ปฏิบัติมากลุ่มละ 1 เรื่อง  และมานำเสนอในห้องฝึกอบรม    ระหว่างที่เขาปฏิบัติภารกิจกลุ่มย่อยอยู่นั้น   ผมเองก็ตามไปสังเกตการอยู่เช่นกัน   ขณะนั้น ผมเหลือบไปเห็นสิ่งของชุดหนึ่งหน้าตาแปลกๆ   ตามในภาพนี้ครับ

scg2

หน้าตามันประมาณนี้ครับ  ลืมบอกไปว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานผลิตสุขภัณฑ์แห่งหนึ่ง   ผมหันไปสะกิดถามผู้เข้าร่วมฝึกอบรมท่านหนึ่งตรงนั้นว่า   พอจะทราบไหมว่าอุปกรณ์อันนี้เป็นอุปกรณ์อะไร?    ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมท่านนั้น  ก็ไม่ทราบในขณะนั้น   แต่ต่อมามีคนไปสอบถามและมาอธิบายผมว่า  มันเป็นอุปกรณ์ช่วยในการทาน้ำมันชนิดหนึ่งลงบนผิวของชิ้นงานสุขภัณฑ์ก่อนขั้นตอนการเผาเพื่อหารอยแผลแตกร้าวที่มองเห็นได้ยาก   เมื่อทาน้ำมันชนิดนี้ลงไปแล้วจะช่วยให้เห็นแผลแตกง่ายขึ้น    แต่ปัญหาของพนักงานก็คือ  น้ำมันชนิดนี้มีกลิ่นเหม็นมาก   เดิมเขาเทน้ำมันลงในภาชนะแล้วใช้แปรงป้ายน้ำมันมาทาที่พื้นผิวของชิ้นงานหล่อ    การทำอย่างนี้ทำให้กลิ่นของน้ำมันกระจายไปทั่วห้อง และเป็นกลิ่นที่ไม่น่ารื่นรมย์เลย   เพราะน้ำมันอยู่ในภาชนะที่เปิดกว้างเพื่อให้แปรงทาน้ำมันลงไปได้   และหากหลายๆ คนทำลักษณะเช่นนี้ก็เท่ากับยิ่งเพิ่มความเข้มข้นของกลิ่นให้มากยิ่งขึ้น    พนักงานเจ้าของไอเดียนี้ได้เปิดเผยให้ฟังว่า เขามาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้น้ำมันออกมาทีละนิดที่บริเวณขนแปรงเท่านั้น   เลยนึกถึงสายน้ำเกลือในโรงพยาบาลที่ใช้กับคนไข้  มันสามารถควบคุมปริมาณที่ต้องการให้ออกมาได้   เลยไปหาอุปกรณ์ดังกล่าวมาดัดแปลงเอง   โดยการเจาะแกลลอนน้ำมันเพื่อต่อสายน้ำเกลือเข้าไป  จากนั้นนำปลายสายน้ำเกลืออีกด้านหนึ่งมาสอดรูที่ด้ามแปรง  ปกติเป็นรูที่ใช้ผู้เชือกสำหรับแขวนแปรง   แล้วใส่อุปกรณ์ควบคุมปริมาณน้ำเกลือให้ออกมากหรือน้อยตามแต่ต้องการได้บริเวณด้ามแปรง   แล้ววางปลายสายให้อยู่ตรงกับบริเวณขนแปรงด้านบน    น้ำมันที่ไหลออกจากแกลลอนจะไหลลงมาสู่ขนแปรงในปริมาณแต่พอดีไม่มากเกินไป  เพราะสามารถควบคุมการไหลได้   ช่วยทำให้ลดกลิ่นน้ำมันไปได้มากทีเดียว

ผู้เล่าเรื่อง   ธวัช  หมัดเต๊ะ

 

ผมขออนุญาตยกเรื่องเล่ามาเพียงเท่านี้ก่อน   เพียงเพื่อให้ท่านได้อ่านเรื่องราวและสังเกตว่า  เรื่องราวเล็กๆ เช่นนี้   มันสำคัญ หรือไม่สำคัญ  และควรค่าแก่การจัดการเพื่อการใดการหนึ่งหรือไม่เท่านั้นเอง

หากเรามองเรื่องราวเหล่านี้เพียงสิ่งที่เห็นปรากฏ สัมผัสได้  แน่นอนมันเล็กน้อย   แต่เรื่องราวแบบนี้ผมเชื่อว่ามันมีอยู่ในทุกที่ที่มีคนทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดก็ตาม  ยิ่งใครมีประสบการณ์ทำงานมาก ก็ย่อมเป็นไปได้ว่าจะมีเรื่องราวเช่นนี้มากเช่นกัน   ผมต้องกลับมาอ่านทบทวนแล้ว  ทบทวนอีก เพื่อหาคำตอบว่าทำไมผมถึงอินนักหนากับเรื่องแบบนี้   แล้วมันค่อยๆ ทำให้ผมเข้าใจในที่สุดว่า….

หัวใจมันไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เราเห็นหรอก  คุณค่าของมันอยู่ที่กระบวนการได้มาซึ่ง “ความรู้มือหนึ่ง”  พวกนี้    กว่าแต่ละคนเขาจะขบคิด  เกิดไอเดีย  ไปจนถึงลงทดลองกับตัวเอง  แล้วค่อยๆ พบสิ่งที่ใช่นั้น   ตรงนี้ต่างหาก  นี่คือ “เส้นทางของการเรียนรู้”  ของผู้คนที่หน้างาน   เขาเรียนรู้ผ่านเส้นทางเช่นนี้  เขาไม่ได้เรียนรู้แบบเข้าห้องฟังอาจารย์บรรยาย  หรือไปอ่านตำราทฤษฎีต่างๆ   มันทำให้ผมเริ่มเห็นภาพของคำว่า “Learning on the Job” ชัดขึ้นก็คราวนี้เอง   นี่คือปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ที่หน้างาน  แต่ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยสังเกตเห็นมัน  เพราะเราไม่เข้าใจมิติของความรู้ปฏิบัติอย่างวันนี้    และผมเริ่มเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกว่า   บุคคลที่เป็นคนเรียนรู้ในการทำงานนั้น  มันควรมีลักษณะทำนองนี้   นี่หล่ะที่เขาเรียกว่า “คนสร้างความรู้”  ไม่ใช่ “คนเสพความรู้”       ยิ่งไปกว่านั้น  หากเราตรึกตรองให้ดี  หลายองค์กรวางเป้าหมายจะพาองค์กรไปสู่ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning Organization: LO) นั้น   องค์กรมันไม่มีชีวิต  แต่คนทำงานในองค์กรต่างหากมีลักษณะเป็นบุคคลเรียนรู้แล้วหรือยัง???   มันจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เช่นนั้นได้อย่างไร หากคนทำงานส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้บรรยากาศการทำงานแบบ “เสพความรู้”  อย่างที่เป็นอยู่เช่นดังเดิม

องค์กรที่ชาญฉลาด  ก็จะพยายามกระตุ้นให้คนทำงานของเขามีพฤติกรรมสร้างความรู้เช่นนี้   กระบวนการจัดการเพื่อกระตุ้นนี้เอง  ที่แต่ละหน่วยงานจะต้องมาขบคิดกันว่า  เราจะสร้างแรงจูงใจอย่างไรดี ถึงจะดึงดูดให้คนทำงานค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้เช่นนี้ได้    และมีข้อจำกัด หรือข้อขัดขวางอันใดบ้างเป็นคอยเป็นบ่อนทำลายไม่ให้คนมีพฤติกรรมเรียนรู้แบบนี้เช่นกัน   หากที่ใดสามารถค้นพบวิธีการจูงใจ และลดข้อขัดขวางจริงๆ ได้แล้วละก้อ   จะเท่ากับเป็นการเพิ่มพลังติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนทำงานและพร้อมที่จะเดินเครื่องแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่ากังขาใดๆ

 

คนเสพความรู้ (Knowledge Consumer)  คือ คนที่เรียนรู้ผ่านช่องทางการรับรู้จากคนอื่นเป็นหลัก  แล้วจดจำเนื้อหาสาระความรู้นั้น   เสพมาก ก็ต้องจดจำมาก   แต่ความรู้ทั้งหมดนั้นได้มาจากการบอกเล่าของผู้อื่นทั้งสิ้น  ไม่ได้ผ่านจากประสบการณ์ของตนเอง

คนสร้างความรู้ (Knowledge Creator) คือ คนที่ได้รับการฝึกจนมีสัญชาติญานการเรียนรู้ดี  ช่างสังเกต  ช่างคิด ช่างถาม ช่างปรับประยุกต์ทดลอง  ใช้ปัญหาที่พบหน้างาน หรือพบในชีวิตมาเป็นโจทย์พัฒนาไปจนได้เป็นแนวทางการแก้ไข  ซึ่งนั่นก็เท่ากับความรู้  อีกประเภทหนึ่งเช่นกัน

ท่านมองว่าองค์กรของท่านมีพนักงานแบบใดมากกว่ากัน?

คนเสพความรู้  ……………………….%

คนสร้างความรู้ ………………………%

 

เมื่อสะสมความรู้พอประมาณแล้ว จะจัดการอย่างไรต่อ?    คำถามนี้ไม่ควรถามเมื่อคราวเริ่มต้น  ยังไม่ได้จัดการรวบรวมจัดเก็บความรู้อะไรเลย   ยิ่งคุย ก็ยิ่งขัดแย้งเชิงความคิดเห็นไปเปล่าๆ?     คำถามนี้มันจะดีก็ต่อเมื่อ เรารวบรวมคำถามมาได้มากพอสมควร  มีการคัดแยกความรู้ปฏิบัติที่ใช้ต่อได้  และบางส่วนต้องคัดออก หรือต้องปรับปรุงเพิ่มเติม  ต้องนำมาจัดหมวดหมู่ตามกลุ่มงาน core business หรือ core knowledge    กระบวนการที่ว่ามาต้องมี ทีม KM Mans  ที่มีคุณสมบัติมีความรู้ความเข้าใจเนื้องานเฉพาะของเขาเป็นอย่างดี  มาช่วยกลั่นกรองและแยกหมวดหมู่

จากนั้น  หากหน่วยงานใดมี Core Competency อยู่แล้ว  ให้ลองนำกรอบความคิดของ core competency มาช่วยพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า   ความรู้ปฏิบัติ ย่อยๆ ทีละตัวว่ามันสอดคล้อง หรืออยู่ในขอบเขต core competency ตัวใดบ้าง   หากสามารถแยกได้ด้วยวิธีนี้ก็จะดี   แต่หากไม่ได้  ก็ต้องให้ ทีม KM Mans  มาช่วยกันคัดเลือกอีกครั้ง    จากประสบการณ์ที่ปรึกษาผมลองใช้เทคนิคต่อไปนี้  ซึ่งทางบริษัทที่รับคำปรึกษาก็ชอบในทางปฏิบัติเพราะมันแยกความรู้ได้ง่ายขึ้น

ลองทำกราฟ 2 แกน แบบง่ายๆ ขึ้นมา   แกนนอนเป็นเรื่อง  “ความถี่ของการใช้ความรู้ปฏิบัติเหล่านั้น”   ส่วนแกนตั้งเป็นเรื่อง  “ความรุนแรงของผลกระทบ”     แล้วแยกพื้นที่ด้านในกราฟออกเป็น 4 ส่วน   และจัดลำดับความสำคัญ 1 ถึง 4 ตามลำดับ (ดูจากกราฟตัวอย่าง)  จากนั้นให้ KM Mans นำความรู้ทีละตัวมาวางในกราฟ  โดยพิจารณาร่วมกันว่าในทางปฏิบัตินั้น  มันมีลักษณะเป็นอย่างไร  เช่น   มีโอกาสต้องใช้บ่อย   และเกิดผลกระทบรุนแรงด้วยหากงานมีปัญหาที่จุดนั้น  ความรู้ตัวนั้นก็ต้องอยู่ในช่องลำดับความสำคัญที่ 1   อย่างนี้เป็นต้น

4QKnowledgeType

 

จากกราฟตัวอย่าง  จุดสีเขียว เหลือง แต่ละจุดนั่นหมายถึง ความรู้แต่ละตัวที่เก็บรวบรวมแยกหมวดหมู่เอาไว้แล้ว   เมื่อนำมาวินิจฉัยจัดลำดับความสำคัญ   ก็จะเห็นว่ามีความรู้อะไรบ้างที่ต้องนำคิดหาวิธีการเผยแพร่หรือถ่ายทอดให้พนักงานคนอื่นสามารถทำได้ ทำเป็น    โดยเฉพาะกลุ่มความรู้ที่จัดลำดับความสำคัญอยู่ในโซนลำดับที่ 1    บริษัทที่ผมให้คำปรึกษา เขานำความรู้ปฏิบัติที่ได้จากการแลกเปลี่ยนจากพนักงานด้วยกันเอง และอยู่ในโซนลำดับที่ 1   เขาสรุปร่วมกันว่า ต้องความรู้เหล่านั้นมาออกแบบและสอนให้พนักงานคนอื่นๆ  จนสามารถทำได้ ทำเป็น  ดังนั้น   การรอให้พนักงานเข้ามาค้นหาเองนั้น คงไม่ทันการณ์   เลยต้องนำความรู้เหล่านั้นมาออกแบบเป็น  “การสอนงาน”  โดยวางแผนการสอนเป็นหลักสำคัญดังนี้

TK2Competency

หมายเหตุ    TK คือ Tacit Knowledge  หรือ ความรู้ปฏิบัติที่ได้จากการแลกเปลี่ยนของพนักงาน

ซึ่งจากการพูดคุยร่วมกัน เห็นพ้องตรงกันว่า  การสอนงานที่ดีนั้น  ต้องฝึกให้พนักงานได้คิดเองด้วย  ไม่อย่างนั้น เขาจะคิดเองไม่เป็น   กระบวนการสอนงาน  จึงเริ่มจากการออกแบบ “สถานการณ์ปัญหาจำลอง”  ขึ้นมาก่อน   แล้วให้พนักงานที่มาเรียนรู้ได้ร่วมกันเรียนรู้ด้วยวิธีลองผิด ลองถูกด้วยตนเองก่อน เพื่อฝึกให้คิด   แล้วค่อยเฉลยวิธีแก้ปัญหาที่คนอื่นแชร์เอาไว้ในตอนท้าย  แล้วให้ลองทำด้วยตนเองจนชำนาญ

เบื้องหลังวิธีคิดนี้   ด้วยเหตุผลที่ว่า   การแลกเปลี่ยนความรู้ปฏิบัติที่ดีนั้น  ต้องส่งผลไปถึง การปรับปรุง core competency ของพนักงาน   และเมื่อเห็นแล้วว่าความรู้เรื่องใดที่จำเป็นต้องใช้บ่อยในการทำงาน  อีกทั้งหากงานมีปัญหาจุดนั้นแล้วจะส่งผลกระทบรุนแรง   พนักงานก็ควรเร่งเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาจุดนั้นให้ได้เสียก่อน   ซึ่งหากทำได้อย่างนั้น  ศักยภาพของพนักงานดีขึ้นแน่นอน   แล้วส่งผลให้ business performance ดีขึ้นตามไปด้วย     หลักสำคัญ ก็คือว่า  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีนั้น   ต้องส่งผลไปถึง core competency ของพนักงาน    หากแลกเปลี่ยนกันจัง แต่ผลงานไม่เห็นเลย  ให้ตั้งข้อสันนิฐานได้เลยว่า  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น  ต้องมีปัญหาจุดใด จุดหนึ่งในกระบวนการ   หรือบางทีอาจมีปัญหาเชิงหลักคิดที่อยู่เบื้องหลักการออกแบบกิจกรรมก็ได้

Professor Ikujiro Nonaka  กูรูด้านการจัดการความรู้  ปราชญ์แห่งญี่ปุ่น  ท่านได้ยกย่องผู้นำที่ชาญฉลาดไว้ข้อหนึ่งว่า  ต้องรู้จักส่งเสริมให้เกิด “ปัญญาปฏิบัติ” (Practical Wisdom)  จากที่หน้างาน  ซึ่งเป็นนัยเดียวกับเรื่องราวที่ผมยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง  กูรูท่านนี้มักยกตัวอย่างอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เสมอว่า   นอกจากต้องรู้ว่ารถยนต์ที่ดีเป็นอย่างไร ต้องรู้วิธีผลิตมันด้วย   แต่ความท้าทายของคำว่ารถยนต์ที่ดีนั้น  มันไม่ได้หยุดนิ่ง   ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถผลิตรถยนต์ที่ดีที่เหมาะกับโอกาสและสถานการณ์ความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ที่ไม่หยุดนิ่ง    ผมตีความว่า ความรู้ปฏิบัติ  เป็นความรู้ที่มีจังหวะจะโคนพอเหมาะพอดี กับช่วงสถานการณ์ที่ต่างกัน  ความรู้เดียวกัน อาจจะใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ใหม่  การรู้จังหวะจะโคนของการใช้ความรู้จึงเป็น “ปัญญาปฏิบัติ” อย่างหนึ่ง   ที่ผู้เรียนรู้ต้องพยายามทำความเข้าใจมัน

 

สรุปท้ายบท

  • เรื่องราวจากประสบการณ์ ย่อมมีความรู้ปฏิบัติอยู่ในนั้น
  • ใครทำอะไรเก่ง เขาย่อมมีความรู้ปฏิบัติในเรื่องนั้นดี
  • บริบท คือเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จในความรู้ปฏิบัติ ดังนั้นละเลยละทิ้งบริบทไม่ได้
  • ประสบการณ์ดีๆ จากที่หนึ่ง ไม่ได้บอกว่าจะทำสำเร็จเช่นเดียวกันกับบริบทใหม่
  • ความรู้ปฏิบัติที่สำคัญ ต้องหาทางนำมาพัฒนาให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้จนถึงขั้นทำได้เช่นเดียวกับที่คนแรกทำได้
  • ความรู้ปฏิบัติ มีความสัมพันธ์กับ competency ของพนักงาน บริหารจัดการให้ดี