กับดัก หรือหลุมพราง  มันมักจะซ่อนอย่างแนบเนียนอยู่ในเส้นทางที่เราสัญจรไป   การทบทวนสิ่งที่เราทำผ่านมาแล้วอย่างสม่ำเสมอ  เป็นวิธีการหนึ่งที่พอจะช่วยให้เราเกิดปัญญา  รู้จักสังเกตและทำให้เรารู้ว่าทางเดินข้างหน้านั้นตรงจุดไหนมีข้อสังเกตลักษณะใดบ้างที่พอจะเป็นสัญญานให้รู้ว่า ข้างหน้านั้นมีหลุมพรางซ่อนอยู่   ช่วยให้เราเลี่ยงพ้นจากมันได้     หลุมพรางที่ว่านั้น มันอยู่เต็มไปหมด อยู่ใกล้ตัวเรามาก  ไม่ว่าในชีวิตส่วนตัว  หรือ ชีวิตการงาน

 แม้แต่ “ความรู้”  สิ่งที่เราคิดว่า  เป็นสิ่งดีงามล้วนๆ  ไม่น่าจะมีหลุมพรางอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายได้  มันก็ยังไม่วายมีหลุมพรางให้เราพบเห็นมาแล้วเช่นกัน    ทุกวันนี้นักเรียน  นิสิต นักศึกษา  ต้องท่องจำเนื้อหาความรู้  เพื่อจะได้เอาไปทดสอบกับครู อาจารย์  หากสอบผ่าน ก็ถือว่า “การเรียนรู้”  ผ่านแล้ว    ในหน่วยงานองค์กรต่างๆ   ต้องลงทุนสำหรับการพัฒนาศักยภาพพนักงาน  มีหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ มากมาย  ด้วยความคาดหวังว่า พนักงานจะมีความรู้มากขึ้น    ต้องว่าจ้างวิทยากรผู้สอน มาทำหน้าที่บรรยายเนื้อหาความรู้  พนักงานก็ต้องจดจำเยอะแยะมากมาย  และต้องกลับมาทำรายงานหลังจากการฝึกอบรม เพื่อบอกให้รู้ว่าได้เรียนอะไรมาบ้าง กระบวนการพัฒนาศักยภาพดูเหมือนว่าพอเดินมาถึงจุดนี้  ภาพก็จะค่อยๆ เลือนหายไป

ปรากฎการณ์ทำนองนี้  มันไม่ต่างอะไรกับการเดินตกหลุมพรางซ้ำแล้ว ซ้ำอีก  แต่ก็ยังไม่เข็ด  ยังคงทำแบบเดิม  แบบเดิมและแบบเดิมต่อมาเป็นเวลาอีกยาวนาน  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?….

เราเคยพินิจพิจารณา “ความรู้” แต่ละเรื่อง แต่ละวิชาหรือไม่ว่า  ความรู้เหล่านั้น มันมีคุณลักษณะแบบไหน?  ธรรมชาติของเนื้อหาเป็นเช่นไร?   แต่ละเรื่องมันแตกต่างกันอย่างไร?   เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก    เหตุผลที่ผมกล่าวหาเยี่ยงนี้  ก็ด้วยเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัว  พบว่าส่วนใหญ่  “วิธีการเรียนรู้” มักทำแบบเดียวกัน    เสมือนว่า ความรู้นั้น ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็สอนแบบเดียวกันได้  ทั้งในสถานศึกษา  หรือแม้แต่ในการฝึกอบรมพนักงานก็เช่นกัน  สำหรับผมเห็นว่านี่เป็นหลุมพราง ที่พบเห็นบ่อยมาก   แล้วใช้กระบวนการเรียนรู้แบบเดียวกันหมด

การที่เอา “ตัวเนื้อหาความรู้”  เป็นตัวตั้ง   ย่อมเท่ากับว่าเราจะดูผลลัพธ์ว่า  ผู้เรียนจดจำ “ตัวเนื้อหาความรู้” ได้มากน้อยเพียงใด    ยกตัวอย่างเช่น  กระบวนการ pre-test และ post-test ก่อนและหลังการฝึกอบรม   คำถามในแบบทดสอบ ก็มักถามวนเวียนในตัวเนื้อหาความรู้เป็นส่วนใหญ่   หลังจากการฝึกอบรม ผู้เรียนตอบถูกมากกว่าก่อนเข้าฝึกอบรม  ก็เท่ากับยอมรับว่า การฝึกอบรมนั้น  ช่วยให้พนักงานมีความรู้แล้ว   วิธีการแบบนี้ยังมีให้เห็นอีกเยอะ ฝ่ายบุคคลอีกหลายองค์กรยังต้องร้องขอให้วิทยากรทำการทดสอบทำนองนี้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  เราทำมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ  หากไม่ทำถือว่าบกพร่องในหน้าที่!!!!!  คำถามก็คือว่า  การทดสอบเช่นนั้น  มันสะท้อนผลการเรียนรู้ได้จริงหรือ???   หรือว่าเราต้องทำเพราะ  แค่ต้องเก็บข้อมูลการทดสอบไว้ในระบบของฝ่ายบุคคลแล้วถือว่าทำงานนั้นครบถ้วนแล้ว   ที่น่าห่วงมากกว่านั้น  คือ  หากถือเอาผลการทดสอบนั้นเป็น สรณะ โดยปราศจากความเข้าใจจริง  หรือยังตอบไม่ได้ว่ามันสะท้อนผลการเรียนรู้ของคนแค่ไหน  อันนี้ยิ่งน่ากลัว   เพราะมันจะพาไปตกเหว  ไม่ใช่แค่ตกหลุมพราง      นี่แค่กรณีเล็กๆ ที่ยกมา  ซึ่งจริงแล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าหยิบยกขึ้นมาชวนกันขบคิดและทบทวน   เพราะการทบทวนประเด็นเหล่านี้มันจะช่วยทำให้เราเท่าทันว่า  สิ่งนั้น คือ หลุมพรางใช่หรือไม่   หากมั่นใจว่าใช่  ก็จะได้หาทางหลบเลี่ยงหลีกห่างจากมันไป ไม่ควรมาเสียเวลากับงานทำนองนั้นอีก  แต่ไม่ควรตกหลุมพรางธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

 กลับมาที่ประเด็น “คุณลักษณะของความรู้”     การทำความเข้าใจในตัวคุณลักษณะความรู้ให้เข้าใจเสียก่อน   มันจะช่วยให้เราเกิดจินตนาการในการออกแบบการเรียนรู้ของผู้คนได้   เช่น  สาระวิชาความรู้เรื่องใดที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงๆ  เช่น ความรู้เรื่องเคมี  จำเป็นต้องรู้จักและจดจำธาตุและคุณลักษณะของมัน หรือ ความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เนื้อหามันมีความเป็นตรรกะโดยธรรมชาติ  เราต้องเรียนจดจำหลักตรรกะเหล่านั้นให้ได้ก่อน   เพื่อจะใช้มันได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว    ส่วนอีกด้านหนึ่ง เช่น ความรู้เรื่องศีลธรรม คุณธรรม  ความรู้กลุ่มนี้มีความเป็นนามธรรมสูงมาก   การท่องจำอย่างเดียว  ไม่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจสาระแก่นสารของมันได้   เพราะคุณลักษณะมันมีความสลับซับซ้อน จับต้องได้ยาก   หรืออีกกรณี เช่น วิชาชีพ หรือวิชาช่าง  แม้จะมีกรอบหลักสาระเนื้อหาครบถ้วนแล้ว   แต่ผู้เรียนจะไม่ได้ประโยชน์ใดเลย  หากไม่ได้ลองปฏิบัติด้วยตนเอง  จนเกิดความคุ้นชิน  ซึ่งยิ่งทำมาก ก็ยิ่งเกิดความชำนาญเกิดความเชี่ยวชาญมากขึ้นตามไปด้วย   ด้วยความแตกต่างของคุณลักษณะธรรมชาติของตัวเนื้อหาความรู้  อย่างที่กล่าว   การจัดกระบวนการเรียนรู้  ย่อมใช้วิธีการ กระบวนการแบบเดียวกันคงไม่ดีแน่  เพราะจะเกิดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ไม่ตรงจุด     ผู้ที่เข้าใจคุณลักษณะเนื้อหาความรู้เป็นอย่างดี  ก็ย่อมจะออกแบบการเรียนรู้ออกมาได้ดี   ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง  สามารถพลิกแพลงความเข้าใจในบริบทที่แตกต่างได้

 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด   เพียงแต่วันนี้มันมีเหตุปัจจัยหลายๆ ด้านเข้ามารุมเร้า แล้วดึงให้เราเร่งรีบ ไม่ประณีตในกระบวนการ   ทำไปเพื่อให้เสร็จ  แต่ผลจะสำเร็จแค่ไหนไม่ใช่ข้อกังวล  เพราะยังมีหลุมพลางอีกหลุมหนึ่งในก้าวถัดไป   คือ  การวัดผลงาน  ที่ดูเหมือนว่า  แค่ทำงานให้เสร็จ  เราก็สอบผ่าน   ส่วนคุณภาพเหรอ???  มันหลอกกันได้   เพราะในงานคุณภาพ ก็ยังมีหลุมพลางอีกชั้นหนึ่ง  คือวัดกันเฉพาะเปลือกของคุณภาพ  แต่ไม่ได้วัดแก่นสารที่สะท้อนสาระสำคัญของคุณภาพจริงๆ   วังวนแห่งหลุมพราง  จึงมีมากมายหลายชั้น   เราเดินทางแบบตกหลุมพรางซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า  แต่ก็ยังคงเดินตามแนวทางเดิม   คำถามก็คือ  นี่หรือที่เรียกว่า “การเรียนรู้”     วิถีปฏิบัติทำนองนี้มันหล่อหลอมให้เรามีบุคลิคที่สนใจเพียง  “ดอกไม้ปลายทาง”   แต่ขาดการสังเกต ขาดการคิดเชื่อมโยง  ไม่สนใจ “ดอกไม้รายทาง” ที่ผ่านไปมากมายอย่างน่าเสียดาย

เมื่อร่ำเรียนก็เดินแบบนี้  พอจบมาทำงานก็ทำแบบเดิมอย่างที่คุ้นเคย   ความยากในการพัฒนาศักยภาพบุคคลากร จึงต้องเผชิญกับปัญหาเชิงรากเหง้าทางกระบวนทัศน์   มันคล้ายกับเราถูกโปรแกรมให้เชื่อและเข้าใจว่าทำเช่นนั้นถูกต้องแล้ว    ทางแก้ที่พอจะเห็นแนวทาง ก็พอจะมี  เราต้องมีช่วงเวลาของการทบทวนร่วมกัน   ถกแถลงร่วมกัน  เพื่อขัดเกลาเหลาความคิดร่วมกัน    และต้องทำบ่อยๆ อย่างเนืองนิจ   ทำหลังจากเสร็จกิจแต่โดยไว ยิ่งเป็นการดี   หนทางเช่นนี้ น่าจะช่วยให้เราและทีมรอดพ้นจากหลุมพรางแห่งธรรมเนียมปฏิบัติไปได้มากพอสมควร   การที่เราไม่ผิดพลาดซ้ำเดิม พลาดแล้วรู้จักทำความเข้าใจกับมัน ก็จะไม่พลาดง่ายๆ อีก  แค่นี้โดยส่วนตัวก็เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แล้ว

 ข้อสมติฐานของผมข้อหนึ่งเกี่ยวกับความรู้  เห็นว่าความรู้นั้นมันมีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง  วันนั้นเรารู้อย่างหนึ่ง   วันข้างหน้าเราอาจจะรู้และเข้าใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งต่างไปจากเดิมในประเด็นเดียวกัน   สิ่งที่ทำให้ความรู้ไม่หยุดนิ่ง  ก็คือ  การเรียนรู้   หากเมื่อไร การเรียนรู้ของเราหยุดนิ่ง   เมื่อนั้นแหละ ความรู้ก็จะหยุดนิ่งตามไป    การเรียนรู้ จึงน่าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญของการเปลี่ยนแปลง  แต่ทว่ากลับตรงกันข้าม   โลกวันนี้กลับไปให้สำคัญกับ ความรู้ มากกว่า การเรียนรู้     ความรู้จึงกลายเป็นตัวตั้ง   แต่การเรียนรู้ยังเป็นสิ่งที่เคว้งคว้าง  ทั้งในสถานศึกษา หรือในองค์กร   เราจะเห็นว่า เราสนใจแค่ว่าคนมีความรู้  แต่ไม่ค่อยสนใจว่า  ทักษะการเรียนรู้ของคนนั้นเป็นเช่นไร   เราสามารถให้คะแนนความรู้  แต่เราไม่สามารถให้คะแนนการเรียนรู้ได้  สังคมวันนี้จึงมักมีปรากฏการณ์ที่สวนทางอย่างที่ไม่ควรจะเป็น     ความรู้ใหม่มักจะเกิดจากจุดที่นอกเหนือความคาดหมาย  เช่น คนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกหลายคนที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ ให้แก่สังคม แต่เขาเหล่านั้นกลับไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา   ปราชญ์ชาวบ้านหลายๆ คน  สร้างนวัตกรรมที่จับต้องได้ดีกว่าคนที่จบการศึกษาระดับสูง    วันนี้ความรู้แห้งๆ ความรู้ขึ้นหิ้ง ขึ้นชั้นนั้นมีมากมายจนแทบไม่มีที่จะเก็บ  เราต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างอาคารเก็บความรู้เหล่านั้น   แล้วคนเรียนก็ยังไปลอกความรู้เหล่านั้น   เขียนมาเป็นเล่มใหม่อีก   หากเรามีเครื่องมือสแกนความซ้ำของความรู้ได้   เราคงจะลดเนื้อที่จัดเก็บได้มากพอสมควร  คงทำนองเดียวกันกับกรณีที่เราสแกนไฟล์ซ้ำในคอมพิวเตอร์แล้วจัดการลบออกไปซึ่งลดพื้นที่จัดเก็บไปได้มากเลยทีเดียว

 ผมยังประทับโมเดลการเรียนรู้เก่าแก่ของไทยเรา   โมเดลหัวใจนักปราชญ์  สุ-จิ-ปุ-ลิ  น่าเสียดายที่สังคมไทยวันนี้  นำโมเดลล้ำค่านี้มาใช้พัฒนาคนน้อยไปหน่อย     ผมทึ่งและแปลกใจมากว่าทำไมโมเดลนี้จึงใช้ สุ ขึ้นต้นเป็นตัวแรกสุดของโมเดล   ผมพยายามทำความเข้าใจผ่านการตีความและสังเกต  ผมตีความให้ความหมาย สุ  สุตะ  มากกว่าแค่การฟังเท่านั้น  มันน่าจะรวมถึง ประตู หรือทวารทั้ง 5  ฟัง  ดู สัมผัส  ชิมรส  ดมกลิ่น  ทั้งหมดนี้เราอาจต้องใช้ร่วมกันมากกว่า 1 อย่างในขั้นตอนการสังเกต   วันนี้ผมเข้าใจแบบตีความเอาเองว่า   อาจเป็นเพราะว่า  สุ คือ ประตูแรก ของการสร้าง หรือการค้นพบความรู้   คุณภาพของสิ่งที่ผ่านประตูนี้มาได้  ย่อมเป็นจุดตั้งต้นในการก่อตัวเป็นความรู้ในลำดับของกระบวนการถัดไป   อุปมาเหมือนกับว่า  ถ้าเราได้วัตถุดิบคุณภาพดี  ก็มีสิทธิ์สร้างสินค้าคุณภาพดีได้   แต่ถ้าวัตถุดิบแย่ตั้งแต่ตอนต้น   ก็ยากที่ได้ของดีในตอนท้าย นอกจากนี้ผมยังเคยอ่านเจอคำว่า “สุตพละ”  ซึ่งมีหมายว่าพลังของการฟัง  และเป็นปฐมทักษะของความสำเร็จ การฟัง จึงสำคัญมาก   แต่น่าแปลกใจประเด็นการฟัง  แทบจะไม่กล่าวถึงในแง่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร   เราพบเห็นหลักสูตร การพูดมากมาย  พูดอย่างไรให้พิชิตใจคน การพูดขั้นเทพ อะไรทำนองนี้เป็นต้น   แต่น้อยมากที่จะเห็นหลักสูตรพัฒนาการฟัง    ระยะหลังนี้เริ่มตื่นตัวขึ้นมานิดหนึ่ง  มีความสนใจเรียนรู้เรื่อง dialogue หรือ สุนทรียสนทนา  ซึ่งเนื้อหาสาระเน้นการฟังเป็นหัวใจของกระบวนการ   กลับมาที่  การพูด ซึ่งเท่ากับว่าในองค์กรส่งเสริมการพูด  แต่ลืมนึกถึงการฟัง    พอประชุมทีไร ทุกคนตั้งท่าจะพูด   ใครตำแหน่งสูงกว่า ก็มีสิทธิ์พูดได้มากกว่า    ใครตำแหน่งต่ำหน่อย  ก็เลยต้องเป็นผู้ฟังไปตามระเบียบ    เมื่อผู้พูด  ตั้งท่าพูดอย่างเดียว  ไม่ได้เตรียมตัวมาฟังใคร   บวกกับผู้ฟังก็ไม่ได้เต็มใจฟัง ไม่ได้ตั้งใจเตรียมตัวสำหรับการฟังเลยเช่นกัน   แล้วอย่างนี้  พลังการฟัง คงจะอ่อนปวกเปียกไปเลย    บรรยากาศการประชุมจึงออกมาแบบเครียด 80%  ส่วนการประชุมที่พบว่าหลังการประชุม ผู้คนเดินออกมาแบบหน้าตาปิ๊งปั๊งนั้น จะมีถึง 20% ได้หรือเปล่าก็ไม่มั่นใจ??  เคยมีงานศึกษาวิจัยเรื่องนี้  โดย Pennsylvania University  (อ้างจากบทความ  อาจารย์พอใจ พุกกะคุปต์ คอลัมภ์ CEO Blog ในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 19 มีนาคม 2555)  พบว่าคนทำงานให้ความเห็นว่า การประชุมที่มีประสิทธิภาพนั้น  มีเพียง 44% เท่านั้น   ซึ่งนั่น เท่ากับว่า การประชุมอีก 55% นั้นด้อยประสิทธิภาพ   หากเป็นเช่นนั้น  ก็เท่ากับว่า เราต้องสูญเสียมากกว่าได้  สูญเสียเวลา  แทนที่จะได้ใช้เวลาส่วนนั้นให้เกิดประโยชน์กับงานมากกว่านี้   การประชุม ถือว่า  เป็นช่องทางหลักของการสื่อสารในองค์กร   หากช่องทางหลักล้มเหลว  แล้วเราจะไปคาดหวังอะไรกับช่องทางสื่อสารอื่นๆ ได้อย่างไร    ในบทความนี้ชี้แนะแนวทางแก้ไขไว้หลายประการ  แต่ขอหยิบยกมาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการฟัง   ซึ่ง มี 2 แนทาง

แนวทางแรก  คือ การเริ่มการประชุมด้วยข่าวดี   Standford University ได้วิจัยและพบว่า  การเริ่มต้นการประชุมด้วยข่าวดีก่อนนั้น  ช่วยให้การประชุมมีพลังและมีประสิทธิภาพมากกว่าการเริ่มต้นด้วยการคุยลุยเรื่องงานกันเลย   ดูเหมือนอ่านแล้วงงว่าเกี่ยวอย่างไรกับการฟัง   ขออธิบายเพิ่มเติมแบบนี้ครับ   การเริ่มต้นด้วยเทคนิค Success story telling นั้น   มันง่ายที่จะทำให้ความสนใจของคนหันมาฟังอย่างตั้งอก ตั้งใจมากขึ้น  ไร้ความกังวลใดๆ  ยิ่งหากให้ลูกน้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่าเรื่องที่หน้างาน  หัวหน้าก็จะได้ประโยชน์เยอะ  เพราะฟังเยอะ    เมื่อไรก็ตาม ที่เราฟังมากกว่าพูด สังเกตดูนะครับ  เรามีโอกาสที่จะได้รับความรู้ใหม่มากกว่าเวลาที่เราพูดมากกว่าฟัง

 แนวทางที่สอง เขาแนะนำให้ใช้กระบวนการสร้างความเงียบ (สงบ) สอดแทรกเข้ามาในระหว่างการประชุม   วิธีนี้คนฝั่งตะวันออกอย่างเรา คงคุ้นเคยและเข้าใจได้ไม่ยาก  เพราะเรามีการปฏิบัติแบบนี้อยู่แล้ว  เช่น การทำสมาธิ   การผ่อนพักตระหนักรู้ เป็นต้น  การนิ่งเงียบ  สังเกตดีๆ ก็เน้นการฟังเป็นหลัก   ฟังความคิดตนเอง  ตามฟัง ตามดูความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง  เป็นการฝึกควบคุมตนเองให้อยู่กับปัจจุบันขณะ หรือการดำรงอยู่อย่างมีสติ   สติมาปัญญาเกิด  สติเตลิด  เกิดตัวโง่    ที่นี้พอจะเห็นความเชื่อมโยงไหมครับว่า การฟัง หรือ สุ สุตะนั้น   เป็นต้นทางของการสร้างความรู้   ดังนั้น หากเราจะพัฒนาให้การสื่อสารระหว่างกันมีพลังมากขึ้น  เราต้องฝึกฟังให้มากขึ้น  ไม่ใช่พูดให้มากขึ้น   การฟังนี่ต้องฝึกบ่อยๆ นะครับ  เพราะหลายครั้งเราหลงคิดว่าเราฟังคนอื่น   ในชั่วขณะหนึ่ง  ใจเราอาจเกิดความคิดแทรกขึ้นมาระหว่างการฟัง  และหากคิดแย้ง คิดต่างด้วยแล้ว  ยิ่งทำให้เราปิดสวิทซ์การฟังโดยที่เราไม่รู้ตัว   ที่จริงเรากำลังฟัง “เสียงในหัว” (Inner voice) ของเราเอง  เราคิดหักล้างสิ่งที่เขากำลังพูด  ความคิดเราทำงานอย่างรวดเร็วจนเราไม่สามารถสังเกตเห็นมัน    การฝึกฟัง จึงเป็นแบบฝึกหัดให้สังเกตตัวเองได้ว่องไวขึ้น   เราต้องฝึกการฟังของเราให้ดี  ฟังอย่างลึก  ฟังอย่างห้อยแขวนความคิดโต้แย้ง  ฟังให้จบให้เห็นเจตนาโดยแท้ว่าเขาต้องการสื่ออะไรกับเรา   แหละเมื่อการฟังของเราประณีต  ขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ของเราในขั้นต่อไปก็จะมีพลังมากขึ้นเช่นกัน

ประตูด่านที่สอง  จิ จิตตะ  จิตใจ ความใคร่ครวญครุ่นคิด   เมื่อเรารับวัตถุดิบมาแล้วขั้นตอนต่อไป เราต้องแปรรูปวัตถุดิบเอามาใช้   เราต้องตีความ  คิดสังเคราะห์ วิเคราะห์  ให้ความหมาย ให้คุณค่าสิ่งที่เรารับเข้ามาจากด่านแรก   ตรงนี้มันจะช่วยยกระดับ  จากตอนแรกเป็นเพียงแค่เหตุการณ์   แต่พอเข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ในขั้นนี้   มันจะกลายสภาพเป็น แนวคิด  เป็นหลักการ เป็นหลักคิด มากขึ้น     เกิดการเชื่อมโยงเห็นความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติมากขึ้น   ยิ่งใครมีจิตที่ฝึกปรือมาเป็นอย่างดี  ก็จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในมิติที่คนทั่วๆ ไปคาดไม่ถึง    เกิดมุมมองใหม่   ปราชญ์ของโลกสร้างนวัตกรรมระดับโลก ก็จากการสังเกตเรื่องราวเก่าๆ ปรากฏการณ์ที่พบประสบอยู่ทุกวัน ที่เราท่านสังเกตไม่เห็น เพราะเราไม่ได้ฝึกจิตแบบเขา   ดังที่บาทหลวง ฟ. ฮีแลร์ ได้ประพันธ์เป็นภาษาไทยว่า  “สองคนยลตามช่อง  คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม  อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย”   ฉันใดก็ฉันนั้น  ใครที่ฝึกจิตให้เห็นบวก  แม้ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ยากที่จะเห็นบวกได้  ก็ยังสามารถมีสติปัญญามองเห็นได้    ส่วนใครที่ติดอยู่กับความคุ้นชิน  เก่งที่จะเห็นภาพลบ    แม้ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความดีงาม  เขาก็จะยังสามารถมองเห็นจุดลบ  แม้จะเป็นจุดเศษเสี้ยวเล็กๆ ก็ตาม    ขอยกเหตุการหนึ่งที่ประสบมาด้วยตนเองจากการไปทำกระบวนการในการประชุมสัมมนา    ผมเลือกคลิปหนังสั้นมาเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ดู  แล้วให้ช่วยกันสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันหลังจากดูหนัง  เป็นเรื่องราวครูดี  ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจสอนศิษย์ให้เก่ง  ครูคนนั้นทุ่มเทมาก   ตื่นแต่เช้าตรู่  มีความคิดว่าหากศิษย์เก่งกีฬาที่ตนสอน   อนาคตก็อาจจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ   หรือหากแม้ไม่ติดทีมชาติ ก็ยังใช้ความสามารถด้านกีฬาเป็นใบเบิกทางในการสมัครเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้    เนื้อหาเรื่องราวในคลิปนำเสนอแต่มุมดี  หลายคนดูแล้วรู้สึกประทับใจ   แต่หลายครั้งเราพบคนที่ยังสามารถมองผ่านการตีความของเขาเองออกมาเป็นมุมลบได้  เช่น  ครูคนนี้ เอาเวลาช่วงไหนไปดูแลครอบครัว?     ลูกเมียเขาจะอยู่อย่างไร?   การสะท้อนมุมมองในลักษณะนี้ทำให้เราเห็นทัศนคติเชิงลบทันที   และแปลกใจทั้งที่ในคลิปหนัง  ไม่ได้มีฉากตอนที่กล่าวถึงลูกเมียของครูเลย   เขายังอุตสาห์จินตนาการไปตรงจุดนั้นได้   เห็นไหมครับ ว่าคนที่มีมุมมองเชิงลบยังมีอีกพอสมควร   หากชุมชนใด หรือองค์กรใดมีพนักงานที่มีจิตติดลบเช่นนี้  ก็น่าเห็นใจ  เพราะจะไปเป็นตัวฉุดรั้งพลังสร้างสรรค์ของทีมไปด้วย   แล้วหากผู้บริหารมีจิตติดลบเสียเอง   อันนี้ถือเป็นกรรมของทีมก็ว่าได้     ผู้บริหารที่มีสายตาว่องไวในการจับผิด ตำหนิติเตียนพนักงานเป็นนิจ   ก็ยากที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์

ประตูด่านที่สาม  ปุ ปุจฉา   การตั้งคำถาม   ถือว่า เป็นเครื่องมือขุดค้นความรู้เลยทีเดียว  ช่วงหนึ่งหน่วยงานของผม ได้จัดกิจกรรมอ่านหนังสือร่วมกัน  เราจะต้องช่วยกันอ่านแล้วนำมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเวทีประชุมประจำสัปดาห์ของเรา  สัปดาห์ละหนึ่งบท  ครั้งหนึ่งเราอ่านหนังสือ “How to think like Leonardo Davinci”   ผมได้อ่านบทแรก  เป็นบทเริ่มต้นของหลักปฏิบัติทั้ง 7 อย่างของ Leonardo Davinci   หลักปฏิบัติข้อแรกที่ผมอ่านชื่อเรื่องว่า Curiosita’  ซึ่งเป็นภาษาอิตาลี  เพราะ Davinci เป็นคนอิตาลี    ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่า Curiosity   หลังจากที่อ่านจบผมแปลและให้ชื่อว่า  “หัวใจใฝ่รู้” สื่อถึง ความอยากรู้ อยากเห็น สิ่งนี้ถือว่าเป็นทุนเดิมที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่เกิด  ไม่เฉพาะแต่ Davinci  แต่ว่า Davinci  รู้วิธีที่จะรักษามันเอาไว้กับตัวตลอดชั่วอายุของเขา ด้วยวิธีที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง  นั่นก็คือ “การตั้งคำถาม”

Davinci  มีสมุดบันทึกติดตัวตลอดเวลา   เขาจะบันทึกสิ่งที่เขาพบเห็น  เหตุการณ์ประจำวัน  รวมไปถึงวาดภาพสิ่งที่เขาสนใจ  เช่น  ท่าเดินหลายๆ อริยบทของคน  ท่าทางต่างๆ ของสัตว์  เช่น นกบิน   ปลาว่ายในน้ำ  เป็นต้น  ที่สำคัญ  เขาจะเขียน  “คำถาม”  จำนวนมากลงในสมุดบันทึก  เป็นคำถามง่ายๆ   ซื่อๆ   โดยยังไม่สนใจคำตอบในตอนนั้น     และคำถามจำนวนมากเหล่านี้นี่เองที่ทำให้  Davinci   มองเห็นและเลือกพุ่งความสนใจของเขาไปในเรื่องเหล่านั้น  ซึ่งมีจำนวนมาก ตั้งแต่บนท้องฟ้า (คิดเครื่องร่อน  เครื่องบิน  ใบพัดเฮลิคอป์เตอร์)  ในน้ำ (คิดอุปกรณ์ดำน้ำ)  เหล่านี้เป็นต้น   มีคำแนะนำในหนังสือบทนี้ให้ผู้อ่านเพื่อฝึกปฏิบัติ คือ การสร้างนิสัยการบันทึก โดยแนะให้มีสมุดบันทึกประจำตัว   บันทึกสิ่งรอบตัวที่เราสนใจ และที่สำคัญฝึก  “ตั้งคำถาม”   โดยไม่ต้องมัวกังวลกับคำตอบ   หรือต้องห่วงเรื่องทีจะหาคำตอบให้มัน   เพียงเขียนคำถามลงไปให้ได้มากที่สุด     ฝึกทักษะการตั้งคำถาม  ที่ทำให้มีมิติการมองภาพที่ต่างออกไป  ทำอย่างนี้ให้เป็นนิสัย  และนำคำถามเหล่านั้นมาดูอย่างพินิจ พิเคราะห์     ทักษะการตั้งคำถาม ถือว่า  เป็นทักษะที่สำคัญที่จะทำให้คนเราค้นพบ “ความรู้” ใหม่

แต่น่าเสียดายที่วิธีการเรียน-การสอนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น  เน้นไปที่  “คำตอบที่ถูก”   อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ   ครูบอก “คำตอบที่ถูก” โดยการบรรยายในแต่ละวิชาที่สอน   แล้วให้นักเรียนท่องจำคำตอบเหล่านั้น   ใครจำได้ก็จะสอบผ่านในวิชานั้น   แต่ Leonardo Davinci จะเน้นที่ทักษะการตั้งคำถาม   โดยใช้ “การสังเกต”  เป็นเครื่องมือที่ทำให้การตั้งคำถามของเขาดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้  การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เช่น ภาษาใหม่  วัฒนธรรมใหม่  กีฬาหรืองานอดิเรกที่เรายังไม่เคยทำ  ไม่เคยเล่น   สิ่งเหล่านี้  ช่วยเติมเต็มความมีสีสันของชีวิตการเรียนรู้ให้แก่ Leonardo Davinci ได้มากทีเดียว

ตอนสมัยเรียนในมหาวิทยาลัย นิสิตต้องทำวิจัย  สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ คำถามของการวิจัย ซึ่งค่อนข้างสำคัญและเป็นหางเสือของงานศึกษาชิ้นนั้นเลย   แต่เรามักตกหลุมพราง “วิชาสถิติ”  ทำให้งานวิจัยหมดความสวยงามของการเรียนรู้ไปเยอะเลย   ในการสอนงานของหัวหน้า  หัวหน้าที่มีบุคลิคแบบโค๊ช  เขาต้องใช้คำถามนำ  ทำให้คนคิดเอง  ค่อยๆ คิด  เพื่อค่อยๆ คลี่คลายความไม่เข้าใจ   ซึ่งการนำแบบนี้ต้องใช้เวลา และความอดทนของผู้ที่จะนำพาการเรียนรู้    แต่ด้วยเหตุใดมิทราบ  หรืออาจช้าไม่ทันใจจึงไม่นิยมวิธีเช่นนี้   เลยกลายเป็นว่า  หัวหน้าต้องคิดให้ตลอด  ลูกน้องคิดเองไม่เป็น  หรือคิดเป็นแต่ไม่อยากคิด เพราะเดี๋ยวหัวหน้าก็เลือกที่จะเอาความคิดของตัวเองในที่สุด จึงไม่รู้ว่าจะคิดทำไมให้เสียเวลา

 

ประตูด่านสุดท้าย  ลิ ลิขิต    อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ เคยกล่าวไว้ในการสัมมนาครั้งหนึ่งว่า  ลิ ขั้นเทพ คือการ ลิ ลงไปในหัวใจ  ซึ่งหมายความว่า การทำได้ ทำได้ด้วยตนเอง   การที่คนเราทำอะไรได้ เราจะจดจำมันอย่างแม่นยำ  จำไม่ลืม  ซึ่งเท่ากับเรา บันทึกลงในความทรงจำของเรา   ดังนั้น  ลิ อาจมีความหมายกว้างกว่าแค่ “การเขียน”  แต่มันเป็นการบันทึก เพื่อการจดจำนำมาทบทวนได้   ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น  การปฏิบัติได้  ความมีทักษะ เกิดความเชี่ยวชาญ ก็นับว่าเป็นการบันทึกลงในคลังสมองของคนคนนั้นไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการเขียน  การบันทึกนั้น  จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับสังคมไทยเรา   พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบเขียน   ส่วนตัวผมตั้งสมมติฐานว่าน่าจะเป็นผลจาก “การไม่ชอบอ่าน”  มาก่อน  ผมสังเกตคนที่ขีดเขียนเก่ง  เขามักจะมีนิสัยการอ่านเป็นนิสัยประจำตัวอย่างหนึ่ง   นักเขียนหลายคนไม่เคยเรียนเรื่องการเขียนมาก่อนเลย  เพียงแค่เขาอ่านมาก พออ่านแล้วมันไปกระชากต่อมจินตนาการส่วนตัว  เขาซึมซับวิธีการใช้ภาษาจากเรื่องราวผ่านการอ่าน  ที่นี้ก็เลยทำให้เขียนได้ไม่ยาก   หลายๆ วิชาชีพ  งานเขียนเป็นงานเข็นครกขึ้นภูเขาเลยทีเดียว   หรือแม้แต่ในแวดวงการศึกษา  ก็อย่าคิดนะครับว่าคนส่วนใหญ่จะเขียนเก่ง  อันนี้เคยประสบมาด้วยตนเอง  เรื่องราวดีๆ  ความรู้ดีๆ ในบ้านเราจึงถูกบันทึกไว้น้อย หากเปรียบเทียบกับประเทศโลกตะวันตก  อุปนิสัยคนตะวันตกถูกฝึกมาตั้งแต่เด็ก ต้องเขียน diary ต้องอ่านหนังสือและมีสมุดบันทึกส่วนตัว  ฝึกเขียนจนเป็นนิสัยส่วนตัว   ทักษะการเขียนมันถึงได้คล่องขึ้น    ดังนั้น  พอเราต้องการให้คนเขียน หรือบันทึกความรู้จากการทำงาน ก็มักจะเกิดอาการติดขัดเสมอ

การฝึกที่ดีที่สุดเท่าที่ผมสัมผัสมาจากประสบการณ์  คือ “พาทำ” หรือสอนโดยการทำให้ดูเป็นแบบอย่าง   ในบริบทหน่วยงาน  การที่ผู้บริหาร หรือหัวหน้า ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เขียนสิ่งที่เราอยากเห็นสิ่งที่อยากให้น้องๆ ในทีมเขียน   ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และทำอย่างสม่ำเสมอ  ผมเคยอยู่ในองค์กรที่ผู้บริหารเขียนเรื่องราวทั้งในแง่สาระ  และเรื่องราวจิปาถะ ท่านเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ  ทุกคนได้อ่านบันทึกของท่านเป็นประจำ  ทำให้ผมต้องค่อยๆ บังคับตนเองให้เขียนบันทึกการทำงานบ้าง   ตอนเริ่มเขียนใหม่ๆ  ก็อาจจะเขียนแล้ว พอมาอ่านอีกที  อ่านไม่รู้เรื่อง  ก็ต้องกลับไปเขียนใหม่  ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  เป็นการฝึกโดยไม่รู้ตัว    จุดสำคัญของการเขียน  คือ ความคิด  มันเหมือนการได้ถ่ายทอดความคิดของเราออกมาเป็นตัวอักษร   ดังนั้น  หากจะพัฒนาคนให้มีทักษะในการเขียน  เราต้องชวนเขาคิดก่อน   ฝึกตีความ ฝึกให้ความหมายเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวที่เกิดขึ้น   แล้วเชียร์ให้เขาบันทึกความคิดเขาเอาไว้     การทำเช่นนี้เป็นประจำมันจะหล่อหลอมนิสัยการเขียนขึ้นเป็นลำดับ   ผมมองว่าตัวผมเองถูกฝึกโดยวิธีเช่นนี้    แต่หัวหน้าต้องไม่ลืมที่จะเข้ามาชื่นชม  และให้คำแนะนำให้เขาเขียนต่อไปเป็นประจำ

สังเกตไหมครับว่าน้องๆ ทีมงานมักจะเฝ้าดูพฤติกรรมของหัวหน้า  เขาเห็นหัวหน้าทำอะไร เขาก็มักจะพยายามทำตามโดยที่หัวหน้าไม่ได้ไปสั่งอะไร  หรือพยายามเดาใจว่าหัวหน้าชอบอะไรแล้วค่อยๆ ทำสิ่งนั้น   ดังนั้น พฤติกรรมของหัวหน้าจะมีอิทธิพลต่อน้องๆ ทีมงานโดยไม่รู้ตัว  เหตุผลอีกประการที่เกิดการเลียนแบบพฤติกรรม ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า  มันเป็นเสมือนเงาของหัวหน้า  หัวหน้าที่ตำหนิเงาของตนเองได้ ก็แสดงว่าเขากำลัง ตำหนิตนเอง โดยไม่รู้ตัว ที่ใดหัวหน้าชอบเล่นกล้องชอบถ่ายภาพ ก็ย่อมเห็นลูกน้องชอบถ่ายภาพขึ้นมาบ้าง  ที่ใดหัวหน้าชอบตีกอลฟ์ ก็ย่อมมีลูกน้องชอบตีกอล์ฟขึ้นมาบ้าง  ที่ใดหัวหน้าชอบอ่านหนังสือ  ก็ย่อมมีน้องๆ ในทีมที่พยายามหาหนังสือมาอ่านบ้าง ทำนองเดียวกันหากหัวหน้ามีนิสัยการเขียน  ย่อมต้องมีน้องๆ ในทีมบางส่วนจะมีพฤติกรรมการเขียนขึ้นมาทำตามบ้างเช่นกัน

หลายองค์กรคงประสบปัญหานี้เช่นกัน   คือปัญหาที่คนในองค์กรไม่ชอบการขีดเขียน  หรือการบันทึกนั่นเอง ผมได้ฟังเทคนิคดีๆ  จากคุณดนัย  รักขิตตธรรม  ผจก.ฝ่ายพัฒนาคุณภาพ   บริษัท TGSG   เล่าแบ่งปันเทคนิคในเรื่องนี้  น่าสนใจมาก  คือ  ค่อยๆ ให้คนรอบข้างเขียนอะไรก็ได้  บันทึกอะไรก็ได้   ทำบ่อยๆ  ทำสม่ำเสมอ   ช่วงแรกอาจจะต้องเสนอประเด็นที่จะให้เขียนก่อน   เริ่มจากเรืองง่ายๆ ใกล้ตัว   ไม่เน้นผิด-ถูกมากนัก   ช่วงแรกแค่ขอให้เขียนออกมาก่อน  ก็ถือว่าหรูแล้ว  ช่วงแรกอย่าเพิ่งไปพูดถึง  การสกัดความรู้ที่ทำให้คนรู้สึกว่ายาก  หรือมโนภาพเสียจนน่าเบื่อ  เลยไม่อยากทำเสียก่อนจากนั้น  ก็ค่อยๆ เพิ่มดีกรีเรื่องที่เกี่ยวกับงาน  หรือเรื่องการแก้ปัญหาที่หน้างาน  โดยเฉพาะปัญหาที่เจอบ่อยๆ   แต่กองเชียร์ต้องเชียร์อย่างสม่ำเสมอนะครับ  ห้ามท้อและหยุดก่อนคนเขียน  เมื่อเขียนไปสักระยะหนึ่ง  ก็พอจะเห็น “แววดาวนักเขียน”   ที่นี้ถัดมาก็เป็นขั้นตอน  “ดันดาว”  ให้รุ่งกันต่อไป

 

สุ-จิ-ปุ-ลิ  จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นกรอบในการมองเรื่องพฤติกรรมการเรียนรู้ของระดับปัจเจก   ไม่ว่าจะเป็นบริบทสถานศึกษา หรือแม้แต่ในสถานประกอบการก็ตาม

ที่ใดก็ตาม ไม่ว่าสถานศึกษา หรือสถานประกอบการ  หากยังสนใจเฉพาะ “ความรู้”  โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่อง “การเรียนรู้” ของผู้คน  ที่นั่น ย่อมเกิดความแห้งแล้งแห่งปัญญา   ผู้คนที่นั่นเสมือนตกอยู่ในกระบวนทัศน์ “เสพความความรู้”   แต่พร่องความสามารถในการ “สร้างความรู้”    แล้วที่นั่นจะก้าวไปสู่โลกความรู้ใหม่ได้อย่างไร???  วันนี้เราเห็นชัดว่านักเรียนส่วนใหญ่ เรียนเฉพาะเนื้อหาความรู้สาระวิชา เพื่อเป้าหมายการสอบเข้ามหาวิทยาลัย  การเรียนแบบนี้เป็นการส่งเสริมให้เด็กติดอยู่ในโลกของการเสพความรู้มากเกินไป  โดยส่วนตัวคิดเห็นว่า ปฐมศึกษา นั้นน่าจะเน้นการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างความรู้” มากกว่า “เสพความรู้”  ดังนั้น หากตั้งเป้าหมายเช่นนี้  เด็กจะถูกพัฒนาให้มีทักษะในการสังเกต การตั้งคำถาม การคิด การวิเคราะห์ การค้นหา ส่วนเนื้อหาสาระวิชานั้นเป็นประเด็นรอง แล้วค่อยๆ ให้ความสำคัญเพิ่มเนื้อหาสาระวิชาในระดับอุดมศึกษาที่สูงขึ้นตามลำดับ     แต่วันนี้มันกลับด้านอยู่  เราเริ่มจากเนื้อหาสาระวิชาในชั้นปฐม  แล้วค่อยไปเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น   ผมตั้งคำถามท้าทายว่า  “มันช้าไปหรือเปล่า?”   หรือ “มันทำให้ยากขึ้นหรือเปล่า?”  เพราะเมื่อเราโปรแกรมเนื้อหาสาระวิชาไปตั้งเยอะแล้ว  แล้วจะกลับมาบอกให้คนพัฒนา “การเรียนรู้” ในตอนที่อายุมากขึ้น   มันยากนะครับ

สำหรับผมแล้ว  เข้าใจว่า การเรียนรู้ เป็นทักษะอย่างหนึ่ง  ดังนั้น ไม่ว่าทักษะอะไรก็ตาม  มันต้องใช้เวลาฝึกฝน  เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ   นักดนตรีฝึกตั้งแต่อายุเยาว์วัยยิ่งดี  นักกีฬาฝึกตั้งแต่เยาว์วัยยิ่งมีสิทธิ์ไปเข้าแข่งขันระดับชิงชัยแห่งความเป็นเลิศ  การเรียนรู้ก็ทำนองเดียวกัน  ฝึกแต่เนิ่น  ก็ย่อมมีโอกาสสร้างความรู้ใหม่ที่แหลมคมนำพาประเทศชาติให้เจริญทัดเทียมไม่แพ้ประเทศใดในโลก

 

สรุปท้ายบท

  • การเรียนรู้ คือ ต้นทางของความรู้
  • เข้าใจลักษณะความรู้ ย่อมช่วยให้ออกแบบการเรียนรู้ได้ดี
  • การหมั่นทบทวนประสบการณ์ร่วมกัน ย่อมนำมาซึ่ง ความรู้ความเข้าใจใหม่
  • อยากได้ความรู้ใหม่เกิดขึ้นมาก ต้องพัฒนาคนให้เป็นแบบ “สร้างความรู้”  มากกว่า “เสพความรู้”
  • การขัดเกลาทักษะการเรียนรู้ เริ่มที่ สุ – จิ – ปุ – ลิ  โมเดลหัวใจนักปราชญ์ (มีมานานแล้ว)
  • เปลี่ยนจาก “สั่ง”  เป็น  “ถาม” ให้คิดเอง  ก็เท่ากับการเรียนรู้เริ่มทำงาน